ไฟฉุกเฉินรถยนต์ คืออะไร?

หลาย ๆ คนที่ใช้รถยนต์เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นคนขับเองหรือผู้โดยสารก็ตาม ต่างก็คงจะเคยสังเกตเห็นปุ่มกดที่มีสัญลักษณ์สามเหลี่ยมสีแดงตรงหน้าคอลโซลรถกันใช่ไหม? แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะรู้ว่าปุ่มนี้มีหน้าที่อะไร? และควรใช้งานเจ้าปุ่มนี้เมื่อไหร่?

วันนี้เราเลยจะพาทุกคนมารู้จักกับ ปุ่มไฟฉุกเฉินภายในรถยนต์ กัน 

ไฟฉุกเฉิน (Emergency Light) หรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อ ไฟผ่าหมาก โดยมันเป็นปุ่มภายในรถยนต์ ใช้ในการแจ้งเตือนถึงเหตุการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวรถของเรา โดยเฉพาะในกรณีที่รถของเรานั้นไม่สามารถขับเคลื่อนหรือเคลื่อนย้ายได้ ตาม พรบ. การจราจร มาตราที่ 9 และกฎหมาย ข้อ 11 กำหนดให้เหตุการณ์ดังกล่าวสามารถใช้งานไฟฉุกเฉินได้ อีกทั้งไฟฉุกเฉินยังสามารถใช้งานในเวลาที่มีรถวิ่งมาด้วยความเร็วแล้วไปเจอสิ่งกีดขวาง หรือ เจออุบัติเหตุต่าง ๆ บนท้องถนน เราก็สามารถเปิดใช้งานไฟฉุกเฉิน เพื่อแจ้งเตือนรถที่อยู่ด้านหลังเรา เพื่อให้ระวังและชะลอความเร็วได้ 

แต่ในทุกวันนี้ที่เรายังเห็นอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่เกิดขึ้นอยู่ทุกวัน ส่วนหนึ่งนั้นก็มาจากการใช้งานไฟฉุกเฉินแบบผิด ๆ โดยสถานการณ์ที่คนมักใช้ไฟฉุกเฉินแบบผิด ๆ นั้นมีอยู่ด้วยกัน ดังนี้ 

  1. เปิดไฟฉุกเฉิน เพื่อซื้อของหรือทำธุระข้างถนน

เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่พบบ่อยได้มาก ๆ บนท้องถนน โดยการเปิดไฟฉุกเฉิน เพื่อทำการจอดรถแวะซื้อของหรือทำธุระต่าง ๆ ข้างถนนนั้นอาจจะทำให้รถที่อยู่ด้านหลังเราเข้าใจผิดได้ว่า ด้านหน้ามีอุบัติเหตุอะไรเกิดขึ้น ส่งผลให้การจราจรติดขัดได้ 

  1. เปิดไฟฉุกเฉินขณะขับรถ

การเปิดไฟฉุกเฉินขณะที่เราขับรถอยู่ปกตินั้น จะทำให้รถคันที่อยู่ด้านหลังเราไม่สามารถรับรู้ได้ว่าเราจะเลี้ยวไปทางด้านซ้ายหรือด้านขวานั่นเอง ทางที่ดีก็คือ ก่อนที่เราจะทำการเลี้ยวรถให้เราเปิดไฟเพื่อแจ้งเตือนให้แก่รถที่อยู่ด้านหลังเราล่วงหน้าก่อน เพื่อที่รถที่อยู่คันหลังเราจะได้เข้าใจว่าเราต้องการที่จะเลี้ยวไปทางนั้น ๆ นั่นเอง  

  1. เปิดไฟฉุกเฉินขณะข้ามแยก

การเปิดไฟฉุกเฉินขณะที่กำลังจะข้ามแยก โดยเฉพาะถ้าหากแยกนั้นไม่มีสัญญาณไฟจราจรกำกับ จะทำให้รถคันที่อยู่ด้านหลังเราเข้าใจว่าเราจะทำการเลี้ยว จึงทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนมาก ๆ 

  1. เปิดไฟฉุกเฉินตอนฝนตกหนัก

การเปิดไฟฉุกเฉินในเวลาที่ฝนตกหนัก จะทำให้รถคันที่อยู่ด้านหลังเราไม่สามารถรับรู้ได้ว่าเรากำลังจะทำการเลี้ยวรถหรือไม่ อีกทั้งในเวลาที่ฝนตกหนัก ๆ นั้นจะยิ่งทำให้แสงไฟจากไฟฉุกเฉินนั้นมีความสว่างที่มากกว่าปกติ ซึ่งมันอาจจะไปรบกวนสายตาของรถคันอื่น ๆ บนท้องถนนได้นั่นเอง

ผู้เขียน :  ศิรดา จิรานันท์สกุล

ช่างไฟดอทคอม
ช่างไฟที่ดีที่สุดในกรุงเทพฯ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น