ไฟเกษตร คืออะไร?

ไฟฟ้า เป็นพลังงานรูปแบบหนึ่งที่เกิดจากการแยกตัวหรือการเคลื่อนที่ของอิเล็กตรอน โปรตอน หรืออนุภาคอื่น ๆ ที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับอิเล็กตรอนและโปรตอน ที่สามารถนำมาใช้ในการสร้างพลังงานอื่น ๆ ได้ เช่น พลังงานแสงสว่าง พลังงานความร้อน พลังงานกล เป็นต้น

โดยไฟฟ้านั้นมีอยู่ 2 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่ ไฟฟ้าสถิต และ ไฟฟ้ากระแส ซึ่งไฟฟ้ากระแสนั้นยังสามารถแบ่งออกได้อีก 2 ชนิด นั่นก็คือ ไฟฟ้ากระแสตรง (Direct Current หรือ DC) และไฟฟ้ากระแสสลับ (Alternating Current หรือ AC) โดยไฟฟ้าทั้ง 2 ประเภทนี้ ยังสามารถแบ่งออกได้อีกมากมาย ขึ้นอยู่กับการนำไฟฟ้าทั้ง 2 ประเภทนี้ไปใช้งาน

ในวันนี้เราเลยจะพาทุกคนมารู้จักกับ ไฟเกษตร กัน 

ไฟเกษตร คือ การนำไฟฟ้ามาใช้ภายในสวนของเกษตรกร เพื่อใช้ในการทำการเกษตรต่าง ๆ เช่น ใช้กับเครื่องสูบน้ำ หรือหลอดไฟต่าง ๆ เป็นต้น

โดยการที่เราจะขอไฟเกษตรมาใช้ได้นั้น เราจำเป็นที่จะต้องมีหลักเกณฑ์ตามข้อตกลงของโครงการ ดังนี้

  1. ต้องได้รับการรับรองจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ หน่วยงานราชการ เพื่อยืนยันตัวตนว่าไม่ได้อยู่ในพื้นที่หวงห้ามใด ๆ ของทางราชการ
  2. ต้องมีเส้นทางสาธารณะที่รถยนต์ สามารถวิ่งผ่านได้อย่างสะดวก
  3. สามารถดำเนินการก่อสร้างระบบจำหน่าย โดยวิธีปักเสาพาดสายไฟเข้าไปถึงจุดที่ขอใช้ไฟฟ้าได้
  4. ต้องได้รับการรับรองจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ หน่วยงานราชการ เพื่อยืนยันขนาดพื้นที่และชนิดของกิจกรรมการผลิตทางการเกษตรที่ต้องการใช้ไฟฟ้า
  5. ต้องระบุแหล่งน้ำที่จะใช้เพื่อการผลิตทางการเกษตรในพื้นที่ที่ขอใช้ไฟฟ้า เช่น คลองสาธารณะ คลองชลประทาน แหล่งน้ำใต้ดินในลักษณะต่าง ๆ
  6. ต้องมีเอกสาร / หลักฐานสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายของพื้นที่ทำการเกษตร แต่ต้องไม่ใช่ที่ดินที่ถือครองโดยเอกชนรายใหญ่
  7. เป็นเกษตรกรรายย่อยที่ขอติดตั้งมิเตอร์ ขนาดไม่เกิน 15 (45) แอมป์ ต่อ 1 ราย
  8. ต้องสามารถออกใบแจ้งหนี้ค่ากระแสไฟฟ้ามิเตอร์เครื่องที่ 2 (ใหม่) โดยจะแจ้งเก็บเงินไปที่มิเตอร์เครื่องที่ 1 (เก่า) ซึ่งทั้งสองมิเตอร์ต้องอยู่ในเขตพื้นที่ของการไฟฟ้าเดียวกัน
  9. ค่าใช้จ่ายในการขยายเขตต่อราย เฉลี่ยไม่เกิน 50,000 บาท (PEA รับผิดชอบค่าใช้จ่ายการขยายเขต)

ในส่วนของเอกสารที่จะต้องเตรียม เพื่อใช้ในการทำเรื่องขอใช้ไฟเกษตรนั้น มีดังนี้

  1. ใบรับรองจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ หน่วยงานราชการ
  2. สำเนาทะเบียนบ้าน
  3. สำเนาโฉนดที่ดิน
  4. สำเนาบัตรประชาชน

โดยค่าธรรมเนียมในการยื่นขอมิเตอร์ไฟฟ้า มีดังนี้

  1. 5 (15) แอมป์ ค่าธรรมเนียม 1,000 บาท
  2. 15 (45) แอมป์ 1 เฟส ค่าธรรมเนียม 6,450 บาท
  3. 15 (45) แอมป์ 3 เฟส ค่าธรรมเนียม 21,350 บาท

และในส่วนของการขอไฟเกษตรมาใช้ มีอยู่ด้วยกัน 3 ขั้นตอน ดังนี้

  1. ขอบ้านเลขที่

การที่เราจะขอไฟฟ้ามาใช้ในไร่หรือสวนของเราได้นั้น จำเป็นที่จะต้องมีบ้านเลขที่ เพื่อทำการติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้า โดยในการขอบ้านเลขที่นั้น หากเป็นพื้นที่ที่ห่างไกลจากหมู่บ้าน เราจำเป็นที่จะต้องสร้างเพิงพัก หรือ อาจจะทำเป็นบ้านถาวร และสิ่งที่จะต้องสร้างควบคู่กันกับบ้าน นั่นก็คือ ห้องน้ำ เพราะการมีห้องน้ำจะเปรียบเสมือนว่าเราจะมาอยู่ที่นี่ถาวร ฉะนั้น ห้องน้ำจึงมีความจำเป็นมากในการใช้เป็นหลักฐานประกอบในการทำเรื่องขอบ้านเลขที่

โดยหลังจากที่เรามีบ้านพัก หรือ เพิงที่พัก แล้ว เราจำเป็นที่จะต้องถ่ายรูปที่พักและห้องน้ำไปให้กับทางอนามัยในพื้นที่ เพื่อให้มาตรวจพร้อมกับเซ็นเอกสารรับรองการเป็นอยู่ที่ถูกสุขลักษณะ จากนั้น นำหนังสือไปยื่นกับผู้ใหญ่บ้าน หรือ ผู้รับผิดชอบในการขอบ้านเลขที่ จากนั้นให้นำหนังสือรับรองจากผู้ใหญ่บ้านไปยื่นต่อที่อำเภอ เพื่อลงทะเบียนขอสำเนาทะเบียนบ้าน

  1. ยื่นเรื่องกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น

หลังจากที่เราได้สำเนาทะเบียนบ้านเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ให้เรานำไปยื่นกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่เขตที่เราอาศัยอยู่ เจ้าหน้าที่จะให้เรากรอกเอกสารเพื่อรับรอง โดยเราจะต้องแนบสำเนาทะเบียนบ้านของเราไปด้วย

  1. ยื่นเรื่องที่การไฟฟ้าในอำเภอของตนเอง

หลังจากที่เรายื่นเรื่องที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเรียบร้อยแล้ว จากนั้นให้นำเอกสารไปยื่นไว้ที่การไฟฟ้าในอำเภอของเรา แล้วกรอกเอกสารต่าง ๆ ให้เรียบร้อย จากนั้นรอให้ทางการไฟฟ้าอนุมัติ เป็นอันเสร็จเรียบร้อย

ผู้เขียน :  ศิรดา จิรานันท์สกุล

ช่างไฟดอทคอม
ช่างไฟที่ดีที่สุดในกรุงเทพฯ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น