ฐาน IEC คืออะไร?

IEC หรือ International Electrotechnical Commission เป็นหน่วยงานคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรฐานสาขาอิเล็กทรอเทคนิกส์ (สมอ.) เป็นองค์กรอิสระที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2449 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำมาตรฐานเกี่ยวกับไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก นอกจากนี้ ยังดำเนินการจัดทำระบบการตรวจประเมิน เพื่อการรับรองคุณภาพให้กับมาตรฐานของ IEC เพื่อเป็นเครื่องมือในการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศ โดยการเป็นสมาชิก IEC จะต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการแห่งชาติของประเทศ แต่ละประเทศจะมีคณะกรรมการแห่งชาติได้เพียงคณะเดียว

โดยหน่วยงาน IEC นั้นมีสมาชิกอยู่ 2 ประเภท ได้แก่

  1. สมาชิกสมบูรณ์ (Full Member)

มีสิทธิเข้าร่วมกำหนดมาตรฐาน และเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ อย่างเต็มที่ 

  1. สมาชิกสมทบ (Associate Member)

มีสิทธิได้รับข้อมูลข่าวสารความเคลื่อนไหวของ IEC แต่มีสิทธิจำกัด ในการเข้าร่วมกิจกรรม

โดยประเทศไทยนั้นได้สมัครเป็นสมาชิกของ IEC ประเภทสมาชิกสมบูรณ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 โดยมีคณะกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยมาตรฐานเทคนิคทางไฟฟ้าระหว่างประเทศ (กมฟท.) ซึ่งแต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรีเป็นคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเข้าร่วมกิจกรรมกับ IEC ปัจจุบัน ประเทศไทยได้สมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกในคณะกรรมการวิชาการ (Technical Committee – TC) และคณะอนุกรรมการวิชาการ (Subcommittee – SC) ของ IEC ประกอบด้วย สมาชิกประเภทร่วมทำงาน (P – Member) จำนวน 28 คณะ และสมาชิกประเภทสังเกตการณ์ (O – Member) จำนวน 56 คณะ

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเข้าร่วมเป็นสมาชิกระบบการตรวจสอบและรับรองบริภัณฑ์เทคนิคไฟฟ้าและชิ้นส่วนของ IEC (IEC System of Conformity Assessment Schemes for Electrotechnical Equipment and Components – IECEE) โดยมี สมอ. เป็นหน่วยรับรอง (National Certification Bodgy – NCB) และสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (สฟอ.) เป็นหน่วยทดสอบ (CB Testing Laboratory – CBTL) ของ IECEE โดยปัจจุบันได้เข้าร่วมในขอบข่ายผลิตภัณฑ์เครื่องซักผ้า เครื่องปั่นสลัด และตู้เย็น

โดยมาตรฐาน มอก. (มาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรมของประเทศไทย) ที่เรามักจะได้ยินกันบ่อย ๆ เกี่ยวกับมาตรฐานของไฟฟ้านั้น ก็อ้างอิงมาจากมาตรฐาน IEC เช่นกัน ข้อดีของการมีมาตรฐานร่วมกัน นั่นก็คือ ทำให้การออกแบบ การผลิต การใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เป็นการช่วยอำนวยความสะดวกในทางการค้า และขจัดการกีดกันทางการค้าที่มาในรูปแบบของข้อกำหนดมาตรฐานต่าง ๆ
ในส่วนของมาตรฐาน IEC ที่ได้รับการตีพิมพ์และเผยแพร่แล้วนั้นมีอยู่ด้วยกันมากมาย โดยผู้อ่านสามารถตามไปศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ https://www.iec.ch/homepage

ผู้เขียน :  ศิรดา จิรานันท์สกุล

ช่างไฟดอทคอม
ช่างไฟที่ดีที่สุดในกรุงเทพฯ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น