กล้องถ่ายภาพความร้อน คืออะไร? มีหลักการทำงานอย่างไร?

อุณหภูมิ เป็นสิ่งที่มีความสำคัญทั้งกับสิ่งมีชีวิตและสิ่งของอื่น ๆ เนื่องจากอุณหภูมิจะเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงอะไรได้หลากหลายอย่าง เช่น มนุษย์เราควรมีอุณหภูมิภายในร่างกายประมาณ 35.4 – 37.4 องศาเซลเซียส หากมีมากหรือน้อยกว่านั้น แสดงว่าร่างกายของเรากำลังมีความผิดปกติ อย่างเช่น มีไข้ และในส่วนของสิ่งของ สิ่งของบางประเภทจะมีอุณหภูมิเป็นตัวกำหนดที่จะทำให้สิ่งของนั้น ๆ จะสามารถอยู่ได้ โดยไม่เสียหายหรือหมดอายุ อย่างเช่น อาหารปรุงสุกที่มีอุณหภูมิ 72 – 82 องศาเซลเซียส ควรเก็บอาหารนั้น ๆ อยู่ที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส หรือร้อนกว่านั้น เพื่อคุณภาพอาหารที่ดี

โดยเครื่องมือที่สามารถช่วยในการระบุอุณหภูมิของสิ่งต่าง ๆ ให้กับเราได้ นั่นก็คือ กล้องถ่ายภาพความร้อน

กล้องถ่ายภาพความร้อน (Thermal Imager หรือ Thermal Image Camera หรือ TI – Camera) หรือกล้องถ่ายภาพอินฟราเรด (Infrared Thermography) เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการวัดอุณหภูมิของวัตถุผ่านภาพถ่าย ทำงานโดยอาศัยหลักการถ่ายภาพจากเซนเซอร์ถ่ายภาพรังสีอินฟราเรดที่แผ่กระจายอยู่บริเวณวัตถุ เป็นการวัดแบบไม่สัมผัสและไม่ทำลายวัตถุ เป็นการวัดอุณหภูมิแบบพื้นที่ และแสดงผลออกมาหลายรูปแบบทั้งตัวเลข กราฟ และแถบสี โดยในแต่ละแถบสีก็จะมีสเกลในการบ่งบอกถึงค่าอุณหภูมิของแถบสีนั้น ๆ โดยสิ่งที่มีอุณหภูมิที่ร้อนก็จะมีสีสว่าง และสิ่งที่มีอุณหภูมิที่ต่ำกว่าก็จะมีสีที่มืดกว่า

ซึ่งส่วนประกอบที่สำคัญของกล้องถ่ายภาพความร้อนนั้น ประกอบไปด้วย เลนส์ ตัวตรวจจับรังสีอินฟราเรด (Infrared Detector) หรือ เซนเซอร์ชนิดอินฟราเรด (Infrared Sensor) วงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Circuit) และหน้าจอที่ใช้ในการแสดงผล (Display)

ในปัจจุบันมีกล้องถ่ายภาพความร้อนนั้นมีหลากหลายรุ่น หลากหลายยี่ห้อ ซึ่งก็มีตั้งแต่ราคาย่อมเยาไปจนถึงราคาสูง ซึ่งความสามารถในการใช้งานก็จะแตกต่างกันออกไป แต่ความสามารถหลัก ๆ ที่มีโดยทั่วไปของกล้องถ่ายภาพความร้อนเลย นั่นก็คือ

  1. เป็นกล้องที่สามารถถ่ายภาพได้ทั้งภาพถ่ายปกติทั่วไป และภาพถ่ายความร้อน เพื่อใช้ในการนำรูปทั้งสองมาเปรียบเทียบกันว่าถ่ายภาพมาจากจุดใด โดยไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ให้มากมายทั้งกล้องถ่ายภาพความร้อน และกล้องถ่ายรูป
  1. สามารถถ่ายภาพความร้อนออกมาได้อย่างคมชัด และมีความละเอียดของภาพดี ซึ่งตรงจุดนี้จะขึ้นอยู่กับความละเอียดของเซ็นเซอร์จับภาพของกล้องแต่ละรุ่น โดยส่วนใหญ่จะบอกเป็นหน่วยพิกเซล (Pixel) หากยิ่งมีค่ามากเท่าไร ก็จะยิ่งทำให้ภาพถ่ายมีความละเอียดและชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น
  1. ถ่ายภาพความร้อนได้หลายแถบสี (Palette) เช่น สีแบบเหล็ก นิยมนำมาใช้ในการตรวจสอบงานโครงสร้าง ส่วนสีขาวหรือสีดำ จะใช้ในการตรวจหารายละเอียดต่าง ๆ ในรูปภาพ และพระเอกของเราอย่าง สีรุ้ง ที่เป็นสีที่นิยมนำมาใช้ในการบอกความแตกต่างของอุณหภูมิ

ผู้เขียน :  ศิรดา จิรานันท์สกุล

ช่างไฟดอทคอม
ช่างไฟที่ดีที่สุดในกรุงเทพฯ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น