บัสดักส์ (Busduct) คืออะไร

บัสดักส์ (Busduct) หรืออีกชื่อคือ บัสเวย์ (Busway) เป็นทางเดินไฟฟ้าสำหรับส่งจ่ายในระบบไฟฟ้า ทำหน้าที่คล้ายๆกับสายไฟฟ้า มีลักษณะเป็นแท่งตัวนำ ทำมาจากทองแดงหรือ อะลูมิเนียม โดยทั่วไปแล้วแท่งตัวนำจะนำมารวมเข้าด้วยกันเป็นแท่งเดียว ภายในตัวนำจะแยกออกจากกันด้วยฉนวนไฟฟ้า นิยมใช้ในระบบไฟฟ้า 3 เฟส 4 สาย แรงดัน 380/220 โวลต์ มักใช้งานในอาคารสูงและโรงงานอุตสาหกรรมเนื่องจากติดตั้งง่ายและปลอดภัย

Busduct ในปัจจุบันนั้นแยกออกเป็น 2 ประเภท

  1. รูปแบบ Indoor ใช้ติดตั้งในอาคารที่ไม่มีความชื้น เช่น ตู้ไฟฟ้าภายในหรือการเดินระบบไฟฟ้าตามชั้นต่างๆ
  2. รูปแบบ Outdoor ใช้ติดตั้งภายนอกตัวอาคารหรือชั้นใต้ดินที่มีสภาพชื้น

โครงสร้างของ Busduct จะประกอบด้วย

  1. ตัวนำ (conductor) มีด้วยกัน 2 แบบคือทองแดงและอะลูมิเนียม ซึ่งวัสดุทั้งสองตัวจะถูกเคลือบผิวด้วยดีบุกเพื่อป้องกันการกัดกร่อน ในปัจจุบันนิยมใช้อะลูมิเนียมมากกว่าทองแดง เนื่องจากมีราคาถูกและน้ำหนักเบา  การทนต่อกระแสของตัวนำมีขนาดตั้งแต่ 225, 400, 600, 800, 1000, 1200, 1350, 1600, 2000, 2500, 3000, 4000และ 5000แอมแปร์ขึ้นไป
  2. ฉนวนไฟฟ้า (Insulation) ในยุคแรกของการผลิตบัสเวย์เพื่อใช้แทนสายไฟนั้น ยังไม่มีการวางตัวนำชิดติดกัน โดยจะเว้นระยะห่างด้วยอากาศเป็นฉนวนแทน (Air Insulation) ถัดมามีการออกแบบให้มีขนาด Compact มากขึ้น โดยการวางตัวนำชิดติดกันเรียกว่า Sandwich type ซึ่งจะใช้ฉนวน 2 แบบคือ ฉนวนแบบ Mylar มีอายุการใช้งานประมาณ 20-30 ปี และฉนวนแบบ Epoxy มีอายุการใช้งานประมาณ 50 ปี
  3. อุปกรณ์เสริม (housing) คือโครงที่ห่อหุ้มตัวนำ โดยวัสดุที่นำมาใช้ คือ เหล็กและอะลูมิเนียม แต่ในปัจจุบันที่นิยมใช้กัน คืออะลูมิเนียมเนื่องจากมีความแข็งแรงสูง กระจายความร้อนได้ดีและน้ำหนักเบา อีกทั้งยังป้องกันการกัดกร่อน ฝุ่นและน้ำเข้าได้

ข้อดีของการนำ Busduct มาใช้ในการจ่ายกระแสไฟฟ้า

  1. มีขนาดเล็ก สามารถติดตั้งได้ง่าย
  2. มีความทนทานที่มากกว่าสายไฟธรรมดา เนื่องจาก Housing เป็นอะลูมิเนียม
  3. สามารถระบายความร้อนได้ดี
  4. ติดได้ทั้งภายในและภายนอกอาคาร ตามมาตรฐาน IP55 และ IP66
  5. มีความต้านภายในต่ำ
  6. ระบบไฟฟ้ามีความเสถียรมากกว่าสายไฟทั่วไป

ผู้เขียน : หฤทธิ์ ล้อทองพานิชย์

ช่างไฟดอทคอม
ช่างไฟที่ดีที่สุดในกรุงเทพฯ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น