สายไฟฟ้าแรงต่ำ ต้องมีมาตรฐานแบบไหน ถึงจะปลอดภัย?

สายไฟฟ้าแรงดันต่ำ (Low Voltage Power Cable) เป็นสายไฟฟ้าที่ใช้ได้กับแรงดันที่ไม่เกิน 1000 V โดยมีลักษณะเป็นสายไฟฟ้าหุ้มด้วยฉนวนที่เป็นทองแดงหรืออะลูมิเนียม แต่ที่นิยมใช้สำหรับสายไฟฟ้าแรงดันต่ำมากที่สุด คือ สายทองแดง โดยสายที่มีขนาดเล็กจะเป็นตัวนำเดี่ยว แต่สายที่มีขนาดใหญ่จะเป็นตัวนำตีเกลียว ซึ่งวัสดุนิยมใช้กับสายไฟฟ้าแรงดันต่ำ ก็คือ Polyiny Chloride (PVC) และ Cross – Linked Polyethylene (XLPE)

จากมาตรฐาน มอก.11 ซึ่งเป็นมาตรฐานที่อ้างอิงมาจากมาตรฐานสากลอย่าง IEC 60227 โดยประเทศไทยนำมาปรับใช้เป็น มอก.11 เล่ม 1 ถึง เล่ม 5 และมีการเพิ่มเติมในส่วนของ มอก.11 เล่ม 101 สำหรับสายไฟฟ้าชนิดที่เป็นที่นิยมใช้งานในประเทศไทย เพื่อให้มาตรฐานครอบคลุมสายไฟฟ้าชนิดที่มีการใช้งานโดยทั่วไปในประเทศไทย 

ซึ่งในปัจจุบัน ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนมาตรฐานในการใช้งานสายไฟฟ้าใหม่ในส่วนของ มอก. 11 เล่ม 101 โดยเปลี่ยนจาก มอก.11 เล่ม 101-2553 เป็น มอก.11 เล่ม 101-2559 ซึ่งมาตรฐาน มอก.11 เล่ม 101 นี้เป็นข้อกำหนดสำหรับสายไฟฟ้าสำหรับงานทั่วไป ได้แก่ สายไฟฟ้าชนิด VAF, VAF-G, NYY, NYY-G, VCT, และ VCT-G ซึ่งเป็นสายไฟฟ้าชนิดแรงดันต่ำ

โดยการเปลี่ยนแปลงมาตรฐาน มอก.11 เล่ม 101-2559 ก็คือ การเพิ่มขนาดตัวนำขนาดเล็กของสายไฟฟ้าชนิด NYY, NYY-G, VCT และ VCT-G ให้เริ่มมีขนาดตั้งแต่ 1 ตร.มม. ขึ้นไป เพื่อให้ครอบคลุมการใช้งานที่กว้างมากขึ้น ส่วนสายไฟฟ้าชนิด VAF และ VAF-G นั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลง

จากการเปลี่ยนแปลงมาตรฐาน มอก.11 เล่ม 101-2553 เป็นมาตรฐาน มอก.11 เล่ม 101-2559 สามารถสรุปออกมาได้ ดังนี้

VAF (2 แกน) ขนาดตัวนำ 1 – 16 ตร.มม. (ไม่มีการเปลี่ยนแปลง)

VAF-G (แกนมีสายดิน).ขนาดตัวนำ 1 – 16 ตร.มม. (ไม่มีการเปลี่ยนแปลง)

NYY (แกนเดี่ยว) ขนาดตัวนำ 1 – 500 ตร.มม. (ไม่มีการเปลี่ยนแปลง) 

NYY (2,3 และ 4 แกน) จากขนาดตัวนำ 50 – 300 ตร.มม. เปลี่ยนเป็น 1 – 300 ตร.มม. 

NYY-G (2,3 และ 4 แกน มีสายดิน) จากขนาดตัวนำ 25 – 300 ตร.มม. เปลี่ยนเป็น 1 – 300 ตร.มม.

VCT (แกนเดี่ยว) จากขนาดตัวนำ 4 – 35 ตร.มม. เปลี่ยนเป็น 1 – 35 ตร.มม.

VCT (2, 3 และ 4 แกน) จากขนาดตัวนำ 4 – 35 ตร.มม. เปลี่ยนเป็น 1 – 35 ตร.มม.

VCT-G (2, 3 และ 4 แกน มีสายดิน) จากขนาดตัวนำ 4 – 35 ตร.มม. เปลี่ยนเป็น 1 – 35 ตร.มม.

เหตุผลที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงก็เพราะว่า ผู้ใช้งานส่วนใหญ่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้สายไฟฟ้าหลายแกนที่มีตัวนำขนาดเล็ก สำหรับการติดตั้งแบบเดินร้อยท่อฝังดินและแบบฝังดินโดยตรง แต่ในมาตรฐานการติดตั้งไฟฟ้าในประเทศไทย ได้กำหนดให้สายไฟฟ้าชนิด 60227 IEC 10 และ 60227 IEC 53 ไม่สามารถใช้ติดตั้งฝังดิน ได้เหมือนสาย NYY และ VCT ดังนั้น จึงมีการปรับเปลี่ยนมาตรฐาน มอก.11 เล่ม 101 ใหม่ โดยเพิ่มขนาดตัวนำสายไฟฟ้าชนิด NYY, NYY-G, VCT และ VCT-G ให้ครอบคลุมตัวนำขนาดตั้งแต่ 1 ตร.มม. เพื่อเป็นการแก้ปัญหานั่นเอง

ผู้เขียน :  ศิรดา จิรานันท์สกุล

ช่างไฟดอทคอม
ช่างไฟที่ดีที่สุดในกรุงเทพฯ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น