Duck Curve คืออะไร?

เคยได้ยิน Duck Curve หรือไม่ คืออะไร เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร มีผลอะไรจะเกี่ยวข้องกับเราหรือไม่ มาดูกัน ในอดีตมีนักวิจัยสังเกตเห็นปริมาณการผลิตไฟฟ้าที่แตกต่างกันระหว่างช่วงกลางวันและกลางคืนบนเส้นกราฟ และต้องมีการผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการ ต่อมาในปี 2556 หน่วยงานที่ดูแลระบบไฟฟ้าของรัฐแคลิฟอร์เนีย California Independent System Operator (CAISO) เห็นเส้นกราฟเป็นรูปคล้ายเป็ด หน่วยงานที่ดูแลระบบไฟฟ้าของรัฐแคลิฟอร์เนีย จึงตั้งชื่อเส้นกราฟนี้ว่า Duck Curve หรือ เส้นเป็ดโค้ง  

เส้นเป็ดโค้งนี้มาจากปรากฏการณ์ที่ผู้คนหันไปใช้พลังงานแสงอาทิตย์กันมากขึ้น ซึ่งพลังงานนี้จะสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพในช่วงที่ฟ้าสว่างแดดจ้า แต่เมื่อพลบค่ำ มืดดึกต้องกลับไปใช้ไฟฟ้าหลัก ทำให้กราฟมีการลดลงและเพิ่มขึ้น จนกลายเป็นรูปเป็ด ซึ่งเกิดขึ้นที่แคลิฟอร์เนีย และฮาวายในสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ต้องมีการผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการและแบกรับต้นทุน ซึ่งนักวิจัยก็ได้หาวิธีแก้ไข คือ การเพิ่มกำลังผลิตโรงไฟฟ้าที่มีความยืดหยุ่น สามารถปรับลดหรือเพิ่มการผลิตไฟฟ้าได้รวดเร็ว เพื่อให้ในตอนกลางวันสามารถลดกำลังผลิตได้ และในตอนเย็นสามารถเร่งเครื่องผลิตไฟฟ้าให้มากขึ้นได้ทันท่วงทีกับความต้องการที่พุ่งสูงขึ้น และอีกวิธีคือการสนับสนุนผู้ใช้ไฟให้ปรับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าปริมาณมากไปในช่วงกลางวัน เพื่อลดอัตราการเร่งเพิ่มปริมาณการผลิตไฟฟ้าในตอนเย็น

สำหรับรัฐแคลิฟอร์เนียเลือกใช้วิธีกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าในราคาที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา เพื่อให้ผู้ใช้ไฟปรับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าปริมาณมากไปเป็นช่วงเวลาที่ยังผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ได้ โดยกำหนดให้ค่าไฟในช่วงนี้มีราคาถูกกว่า เป็นการจูงใจ ขณะที่ฮาวาย เลือกปรับระบบผลิตไฟฟ้าให้มีโรงไฟฟ้าที่พร้อมลดหรือเพิ่มปริมาณการผลิตไฟฟ้าได้รวดเร็ว จำนวนเพิ่มขึ้น และเสริมระบบแบตเตอรี่เก็บพลังงาน เพื่อให้มีการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลในปริมาณน้อยในช่วงกลางวัน และปรับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของประชาชนไปเป็นช่วงกลางวัน ด้วยการปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าและบริหารจัดการสถานีชาร์จไฟรถไฟฟ้า ซึ่งอาจจะเป็นการแก้ปัญหาในระยะสั้น

มาดูที่บ้านเรากันบ้าง ในอดีตจนถึงปัจจุบันการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยจะใช้ไฟฟ้าหลักจากการไฟฟ้ามีส่วนน้อยที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เส้นกราฟของการใช้ไฟฟ้าจะมีลักษณะคล้ายหลังอูฐ โดยเกิดจากการลดลงหลังเที่ยงคืน จากนั้นค่อย ๆ เพิ่มขึ้นในช่วงเช้า มาสูงสุดในช่วงสาย ๆ เกือบเที่ยง และลดลงในช่วงเที่ยง จึงเพิ่มขึ้นอีกช่วงบ่ายและหัวค่ำ แต่ในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ทั่วโลกเริ่มในความสนใจสิ่งแวดล้อม รักษ์โลก ดูแลโลกกันมากขึ้น ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนเนื่องจากภาวะโลกร้อนที่ทำให้มนุษย์ได้รับผลกระทบไปตาม ๆ กัน ซึ่งการเลือกใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่หลายบริษัทยักษ์ใหญ่ หลายครัวเรือนหันมาใช้แทนไฟฟ้าจากการไฟฟ้า นอกจากจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้วยังช่วยประหยัดค่าไฟด้วย

ผู้เขียน :  ชญาภรณ์ ภูงามเงิน

ช่างไฟดอทคอม
ช่างไฟที่ดีที่สุดในกรุงเทพฯ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น