มาตรฐานปลั๊กพ่วง มีอะไรบ้างนะ?

หลายคนคงจะเคยเห็นหรือเคยได้ยินข่าวเกี่ยวกับปลั๊กพ่วงที่เกิดเพลิงไหม้หรือระเบิด ที่มีสาเหตุอันเนื่องมาจากปลั๊กพ่วงที่ใช้นั้นไม่มีคุณภาพ และไม่มีมาตรฐานรองรับ จนพาลทำให้ใครหลายคนไม่กล้าที่จะซื้อปลั๊กพ่วงหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ มาใช้กันเลยทีเดียว

แต่ในปัจจุบัน ปลั๊กพ่วงและเครื่องใช้ไฟฟ้าหลาย ๆ ชนิดนั้นมีมาตรฐานรับรองคุณภาพสำหรับการใช้งานกันมากขึ้น โดยมาตรฐานนี้ มีชื่อเรียกว่า “มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม” หรือ ที่คนส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกันในชื่อย่ออย่าง มาตรฐาน มอก. กัน โดยมันเป็นมาตรฐานที่ทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เป็นผู้กำหนด เพื่อใช้เป็นแนวทางในการผลิต จำหน่าย และนำเข้าสินค้าที่มีคุณภาพเหมาะกับการนำสินค้าเหล่านั้นไปใช้งาน โดยสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ว่านี้ ก็มีอยู่หลายกลุ่มด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น เครื่องใช้ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง ยานพาหนะ เป็นต้น

โดยมาตรฐาน มอก. ล่าสุดของปลั๊กพ่วง ก็คือ มอก.2432-2555 ซึ่งเป็นมาตรฐานบังคับ ที่มีผลบังคับให้ใช้ตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการบังคับให้กับผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย และผู้นำเข้าปลั๊กพ่วงนั้นจะต้องผลิต จำหน่าย และนำเข้าเฉพาะปลั๊กพ่วงที่มีมาตรฐาน มอก. รองรับเท่านั้น แต่สำหรับร้านค้าไหนที่ยังมีปลั๊กพ่วงรุ่นเก่า ที่ยังไม่มีมาตรฐาน มอก.2432-2555 รองรับนั้น ทาง สมอ. ก็อนุโลมให้สามารถทำการขายได้ต่อจนกว่าสินค้าจะหมดสต๊อก แต่ทั้งนี้ ผู้ค้าจะต้องรายงานเรื่องนี้ไปยัง สมอ. ด้วยเช่นกัน

ขอบข่ายของมาตรฐาน มอก.2432-2555 นี้ จะครอบคลุมตั้งแต่ปลั๊กพ่วงแบบหยิบยกได้ รวมไปถึงชุดสายพ่วงต่าง ๆ โดยจะต้องใช้ไฟฟ้ากระแสสลับที่มีแรงดันไฟฟ้าที่กำหนดมากกว่า 50 โวลต์ แต่ต้องไม่เกิน 440 โวลต์ และมีกระแสไฟฟ้าที่กำหนดไม่เกิน 16 แอมแปร์ สำหรับการใช้งานภายในและภายนอกอาคาร โดยอุณหภูมิเฉลี่ยโดยรอบทั้งภายในและภายนอกอาคารนั้น จะต้องไม่เกิน  40 องศาเซลเซียส แต่ถ้าหากจำเป็นที่จะต้องมีการใช้งานตลอด 24 ชั่วโมง อุณหภูมิเฉลี่ยโดยรอบภายในและภายนอกอาคารนั้น จะต้องไม่เกิน 35 องศาเซลเซียส

ในส่วนของส่วนประกอบอื่น ๆ ของปลั๊กพ่วงอย่างหัวปลั๊กนั้น ตามมาตรฐานจะต้องใช้เป็นแบบ 3 ขา โดยหัวปลั๊กก็จะต้องได้รับการรองรับมาตรฐาน มอก.166-2549 ทั้งนี้ ตัวเต้ารับเองก็ต้องสอดคล้องกับ มอก.166-2549 ด้วยเช่นกัน โดยตัวเต้ารับที่ได้รับมาตรฐานจำเป็นที่จะต้องมีเต้ารับตั้งแต่ 3 เต้าขึ้นไป ต้องมีการติดตั้งตัวตัดไฟ ซึ่งจะเป็นแบบ RCBO หรือ Thermal ก็ได้ โดยจะต้องต่อช่อง L, N และ G (Line, Neutral, Ground) ให้ถูกต้องตามมาตรฐาน อีกทั้งยังต้องมีการติดตั้งม่านชัตเตอร์ปิดทุกเต้า และเต้ารับทุกเต้าจะต้องมีการติดตั้งระบบสายดิน ในส่วนของตัวบอดี้ของปลั๊กพ่วงนั้น ตามมาตรฐานจะต้องเป็นวัสดุที่ไม่ติดไฟ หรือ ใส่สารกันลุกติดลามไฟ และในส่วนของสายไฟของปลั๊กพ่วง นั้นจะต้องใช้มาตรฐาน มอก.11-2553 หรือ อาจจะใช้มาตรฐานอื่นที่สอดคล้องกับ มอก.955 ก็ได้

ผู้เขียน :  ศิรดา จิรานันท์สกุล

ช่างไฟดอทคอม
ช่างไฟที่ดีที่สุดในกรุงเทพฯ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น