น็อต มีกี่ประเภท?

น็อต มีกี่ประเภท?

น็อต (Nut) เป็นอุปกรณ์ชนิดหนึ่ง ที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในการยึดติดวัสดุ หรือ ชิ้นงานต่าง ๆ ให้ยึดแน่นเข้าหากัน โดยมีอุปกรณ์อีกชนิด ที่มีชื่อเรียกว่า สกรู มาช่วยเสริมให้น็อตและวัสดุเหล่านั้นสามารถยึดติดกันได้ดีมากขึ้นกว่าเดิม 

น็อตจึงเป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญกับงานช่างเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับงานในกลุ่มเหล็กและอลูมิเนียม จึงทำให้น็อตนั้นถูกผลิตและออกแบบมาหลากหลายประเภท เพื่อให้เหมาะสมสำหรับการใช้งานที่แตกต่างกัน โดยน็อตนั้นสามารถแบ่งออกมาได้เป็น 9 ประเภทหลัก ๆ ดังนี้

  1. น็อตหกเหลี่ยม (Hex Nuts)

เป็นน็อตที่เรามักจะเห็นกันได้บ่อย ๆ ตามงานช่างทั่วไป โดยลักษณะของน็อตชนิดนี้ก็ตามชื่อของมันเลย นั่นก็คือ มุมทุกด้านนั้นจะมีลักษณะที่เป็นเหลี่ยมทั้ง 6 ด้าน มีรูอยู่ตรงกลางที่ภายในนั้นมีลักษณะที่เป็นเกลียว เพื่อใช้ในการหมุน หรือ ขันให้เข้ากับสกรู ในการยึดวัสดุ 2 วัสดุให้แน่นเข้าหากัน

  1. น็อตหกเหลี่ยมมีบ่า (Flanged Nuts)

เป็นน็อตที่มีลักษณะภายในและภายนอกเกือบทั้งหมด เหมือนกับน็อตชนิดหกเหลี่ยม แต่น็อตหกเหลี่ยมมีบ่าจะมีความแตกต่างกันตรงที่ส่วนล่างของน็อตนั้นจะมีบ่ายื่นออกมา โดยในวงการช่างนั้นมักจะเรียกน็อตประเภทนี้ว่า “เหลี่ยมมีบ่า” หรือ “น็อตหัวเหลี่ยมมีบ่า” โดยน็อตประเภทนี้มีข้อดีตรงที่ช่วยลดขั้นตอนความยุ่งยาก ในการประกอบตัวน็อตเข้ากับแหวนรองน็อต อีกทั้งมันยังเหมาะกับงานที่ต้องการความแข็งแรง และความแน่นหนาสูงเป็นพิเศษอีกด้วย

  1. น็อตหัวหมวก (Domed  / Acorn Nuts)

เป็นน็อตที่มีลักษณะภายในและภายนอกที่คล้ายกับน็อตหัวเหลี่ยมอีกเช่นกัน แต่น็อตหัวหมวกนั้นจะมีความแตกต่างตรงที่ด้านบนของน็อตนั้น จะมีส่วนที่เพิ่มขึ้นมาซึ่งมีลักษณะที่ดูคล้ายคลึงกับหมวก จึงทำให้มันถูกเรียกว่า น็อตหัวหมวก นั่นเอง โดยน็อตประเภทนี้มีข้อดีตรงที่ช่วยเพื่อความสวยงามให้กับชิ้นงาน โดยการปกปิดส่วนปลายของสกรู เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ ที่อาจเกิดขึ้นได้จากการเดินชน หรือ เดินเฉี่ยว ตัวน็อตได้

  1. น็อตหัวผ่า (Slotted Nuts)

เป็นน็อตที่มีลักษณะเป็นเหลี่ยมทั้ง 6 มุม เหมือนกันกับน็อตหัวเหลี่ยม แต่น็อตหัวผ่าจะมีความแตกต่างตรงที่ด้านบนของน็อตนั้นจะยื่นออกมาเป็นร่อง จึงทำให้มันมีลักษณะของการใช้งานที่แตกต่างจากน็อตประเภทอื่น ๆ นั่นก็คือ จะต้องใช้สกรูชนิดพิเศษ ซึ่งเป็นสกรูที่มีช่องเล็ก ๆ ไว้เสียบกับตัวพิน โดยเมื่อทำการประกอบน็อตเข้ากับสกรูแล้วนั้น ผู้ใช้งานจะต้องใช้พินเสียบผ่านช่องในส่วนของสกรู ให้ส่วนปลายของพินทั้ง 2 ด้าน ตกลงไปอยู่ภายในร่องของน็อต เพื่อเป็นการเพิ่มความแน่นหนาให้กับน็อตและวัสดุ 

  1. น็อตเชื่อม (Weld Nuts)

เป็นน็อตที่มีลักษณะที่ใกล้เคียงกับน็อตหกเหลี่ยมมากที่สุดในบรรดาประเภทน็อตทั้งหมดที่เราได้กล่าวมา เพียงแต่น็อตประเภทนี้จะมีความแตกต่างกันในส่วนของการใช้งานแทน โดยน็อตเชื่อมนั้นถูกออกแบบมาเพื่อใช้กับงานที่ต้องเชื่อมติดกับวัสดุโดยเฉพาะ นั่นก็คือ งานประเภทเชื่อมเหล็ก โดยความพิเศษของตัวน็อตประเภทนี้ ก็คือ มันสามารถนำมันมาใช้งานแยกออกจากน็อตชนิดอื่นได้ เนื่องจากบริเวณมุมของน็อตประเภทนี้ จะมีส่วนที่ยื่นออกมาเพื่อใช้เป็นจุดเชื่อมต่อกับวัสดุอื่น ๆ อีกทั้งน็อตประเภทนี้ยังช่วยทำให้โลหะชนิดบางมีความแข็งแรงเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

  1. น็อตล็อก (Lock Nuts)

เป็นน็อตที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในการป้องกันการคลายเกลียว จากงานที่มีการสั่นสะเทือน จึงทำให้น็อตประเภทนี้ได้รับความนิยมในการนำมาใช้กับงานก่อสร้าง หรือ งานเครื่องยนต์ขนาดใหญ่

  1. น็อตหางปลา (Wing Nuts)

เป็นน็อตที่มีลักษณะของรูปร่างที่แตกต่างจากน็อตประเภทอื่น ๆ โดยมันจะมีส่วนที่ยื่นออกมาจากด้านข้างทั้ง 2 ด้าน คล้ายกับหางของปลา โดยน็อตประเภทนี้ถูกออกแบบมาเพื่อ เพิ่มความสะดวกในการใช้งาน เนื่องจากน็อตหางปลาสามารถใช้มือในการหมุดบิดเกลียวให้แน่นได้ อีกทั้งยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับงานได้อย่างหลากหลาย โดยเฉพาะกับงานที่ต้องใช้ความรวดเร็วในการประกอบและการถอด ไม่ว่าจะเป็น งานประกอบชิ้นส่วนเครื่องใช้ หรือ งานประกอบเฟอร์นิเจอร์ภายในบ้าน เป็นต้น

  1. น็อตสำหรับยึด (Cage Nuts)

เป็นน็อตที่มีลักษณะของรูปร่างที่แตกต่างจากน็อตประเภทอื่น ๆ มากที่สุดในบรรดาประเภทน็อตทั้งหมดที่เราได้กล่าวมา โดยในวงการช่างนั้นมักจะเรียกน็อตประเภทนี้ว่า “น็อตยึดแร็ค” (Rack) โดยมันเป็นน็อตที่มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยม ในส่วนของด้านข้างนั้นจะมีขายื่นออกมา โดยในเวลาที่เราจะทำการประกอบ เราจะต้องบีบขาน็อตและใส่ลงตามช่องแร็ค จึงทำให้มันเป็นน็อตที่นิยมนำมาใช้ในการยึดวัสดุอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านต่าง ๆ เข้าด้วยกัน

  1. น็อตขึ้นลาย (Knurled Nuts)

เป็นน็อตที่มีรูปร่างลักษณะที่คล้ายกับน็อตหกเหลี่ยม แต่มีลักษณะของการใช้งานที่คล้ายกับน็อตหางปลา ทำให้สามารถใช้มือในการหมุดบิดเกลียวให้แน่นได้ จึงทำให้น็อตประเภทนี้เหมาะกับงานที่ต้องถอดประกอบ หรือ ขนย้ายบ่อย ๆ อีกทั้งยังสามารถใช้กับงานที่ต้องการปรับเพิ่ม – ลดความแน่นหนาของการล็อกได้ด้วย

ผู้เขียน :  ศิรดา จิรานันท์สกุล

ช่างไฟดอทคอม
ช่างไฟที่ดีที่สุดในกรุงเทพฯ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น