มาตรฐานเต้ารับ – เต้าเสียบ มีอะไรบ้างนะ?

ในวันที่ 23 เมษายน 2562 คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กอม.) ได้เห็นชอบให้ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้ดำเนินการกำหนดให้ผลิตภัณฑ์เต้ารับและเต้าเสียบ หรือ ที่ส่วนใหญ่เรานิยมเรียกกันว่า “ปลั๊กไฟ” ต้องเป็นไปตามมาตรฐานเลขที่ มอก.166-2549 ซึ่งเป็นมาตรฐานบังคับ เพื่อให้มีรูปแบบที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน และเพื่อความปลอดภัยของประชาชน เนื่องจากเต้ารับและเต้าเสียบเป็นผลิตภัณฑ์ที่ประชาชนจำเป็นที่จะต้องใช้งานกันอยู่ในทุก ๆ วัน จึงมีความเสี่ยงที่ประชาชานจะได้รับอันตรายจากไฟฟ้าได้ 

โดยขอบข่ายของมาตรฐานนี้จะครอบคลุมตั้งแต่เต้าเสียบและเต้ารับที่ยึดกับที่ หรือ เต้ารับที่สามารถหยิบยกได้ ซึ่่งเต้ารับและเต้าเสียบของมาตรฐานนี้ จะต้องใช้ไฟฟ้ากระแสสลับที่มีแรงดันไฟฟ้าที่กำหนดไม่เกิน 250 โวลต์ และมีกระแสไฟฟ้าที่กำหนดไม่เกิน 16 แอมแปร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในที่อยู่อาศัย และงานทั่วไปที่มีจุดประสงค์คล้ายกัน ไม่ว่าจะเป็นภายในหรือภายนอกอาคาร ที่มีอุณหภูมิการวัดโดยรอบ ที่ไม่เกิน  40 องศาเซลเซียส ทั้งนี้ มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมนี้ยังครอบคลุมไปถึงเต้าเสียบในชุดเต้าเสียบพร้อมสาย เต้าเสียบและเต้ารับที่สามารถหยิบยกได้ที่มีอยู่ในชุดสายพ่วง เต้าเสียบและเต้ารับที่เป็นส่วนประกอบในเครื่องใช้ไฟฟ้าด้วยเช่นกัน 

โดยมาตรฐาน มอก.166-2549 นี้ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 แต่นอกจากที่เราจะเลือกใช้เต้ารับและเต้าเสียบที่ได้รับมาตรฐาน มอก.166-2549 แล้ว ในส่วนของวิธีการใช้งานเต้ารับและเต้าเสียบอย่างปลอดภัย นั่นก็คือ เราไม่ควรเสียบเต้าเสียบของเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟมาก ๆ พร้อมกันหลาย ๆ เครื่อง เนื่องจากมันจะทำให้เกิดความร้อนสะสม ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้ หรือถ้าหากว่าเรามีความจำเป็นต้องใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าพร้อมกันหลาย ๆ เครื่องจริง ๆ เราก็ควรที่จะทำการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันกระแสเกิน หรือ เซอร์กิตเบรกเกอร์ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ทางไฟฟ้าชนิดหนึ่ง ที่มีหน้าที่หลัก ๆ ในการตัดกระแสไฟฟ้า เมื่อมีการใช้กระแสไฟฟ้าที่มากจนเกินไป ทั้งนี้ เราก็ควรที่จะทำการติดตั้งระบบสายดินควบคู่ไปด้วย เพื่อเป็นป้องกันอันตรายจากการเกิดไฟฟ้ารั่วอีกทีหนึ่งด้วยเช่นกัน

ผู้เขียน :  ศิรดา จิรานันท์สกุล

ช่างไฟดอทคอม
ช่างไฟที่ดีที่สุดในกรุงเทพฯ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น