ขยะอิเล็กทรอนิกส์ เศษซากจากความเจริญรุ่งเรือง

ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญปัญหาขยะล้นโลก และที่สำคัญขยะส่วนใหญ่เหล่านั้นเป็นขยะที่ใช้เวลาในการย่อยสลายนานหลายปี ขยะที่กล่าวถึงคือ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Waste หรือ E-Waste) ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ แท็บแล็ต และอุปกรณ์เสริมต่างๆ คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ใช้งานไม่ได้แล้ว หรือล้าสมัย อุปกรณ์เหล่านี้จะกลายเป็นขยะที่จัดอยู่ในประเภทขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Waste

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Waste หรือ E-Waste) คือ ซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ชนิดต่างๆ ที่หมดอายุการใช้งาน ล้าสมัย หรือผู้บริโภคไม่ต้องการใช้งานแล้ว และจะถูกทิ้งเป็นขยะ ซึ่งชิ้นส่วนเหล่านี้ไม่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ และมีสารประกอบที่เป็นพิษ 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างรวดเร็ว ทำให้มีเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย และระยะเวลาในการใช้งานของผู้บริโภคจึงใช้ในช่วงเวลาสั้นๆ แล้วเปลี่ยนเครื่องใหม่ ซึ่งทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกทิ้งมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นทุกปีๆ 

ในขณะที่ประเทศไทยมีขยะอิเล็กทรอนิกส์จากชุมชนกว่า 380,000 ตันต่อปี แต่ขยะเหล่านี้กลับถูกรวบรวม เพื่อส่งต่อไปสถานีรีไซเคิลอย่างถูกวิธีเพียงร้อยละ 7.1 ขณะที่ส่วนที่เหลือถูกนำไปกองรวมกับขยะมูลฝอยอื่นๆ รอการฝังกลบ หรือมีบางส่วนถูกกระจายไปยังร้านรับซื้อของเก่า เพื่อนำไปคัดแยกและรวบรวมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่า 

ผลกระทบที่ตามมา หากขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ถูกทิ้งโดยไม่แยกก่อนทิ้ง และไม่ได้นำมาจัดการอย่างถูกวิธี จะทำให้ส่วนประกอบทางเคมีและโลหะหนักที่อยู่ในเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น สารตะกั่วในแบตเตอรี่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรือแผงวงจรต่างๆ สารปรอทในหลอดไฟและจอภาพ แคดเมียมที่พบในจอภาพและแผงพิมพ์วงจรต่างๆ ปนเปื้อนออกมาสู่สิ่งแวดล้อมและตกค้างอยู่ในดินและน้ำแล้วแทรกซึมเข้าไประบบนิเวศและห่วงโซ่อาหาร กลับมาก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพ

ในขณะที่ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตมากขึ้น ส่งผลให้วิถีการดำเนินชีวิตเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงมีการใช้เครื่องใช้ทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นตามไปด้วย เมื่อเหรียญมีสองด้านเสมอ เราจึงควรเรียนรู้ที่จะปรับตัว และเลือกใช้เครื่องใช้เหล่านั้น ให้มีผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อมของเราให้น้อยที่สุด โดยคำนึงถึงความปลอดภัยในด้านสุขภาพร่ายกาย หรือหาสิ่งอื่นมาทดแทนเหล่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านั้น

HOTLINE-061-417-5732

https://www.facebook.com/changfidotcom

Line: @changfi

ผู้เขียน มิ่งสุดา โสมะฐิติ

ช่างไฟดอทคอม
ช่างไฟที่ดีที่สุดในกรุงเทพฯ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น