ท่อร้อยสายไฟ มีกี่ประเภท?

ท่อร้อยสายไฟ คือ ท่อที่ใช้หุ้มสายไฟเพื่อการป้องกันอันตรายจากไฟฟ้าลัดวงจร ไฟฟ้าดูด ไฟฟ้าช็อต หรือ ไฟรั่ว อีกทั้งยังเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยในการเก็บสายไฟให้เป็นระเบียบ รวมถึงป้องกันไม่ให้สายไฟฟ้าเกิดความเสียหายจากแรงกระแทกต่าง ๆ นิยมนำมาใช้ในการเดินสายไฟฟ้าในบ้านและอาคาร

ซึ่งท่อร้อยสายไฟนั้นก็มีหลากหลายประเภท ให้เราได้เลือกใช้ตามการใช้งาน และเลือกใช้ตามความเหมาะสมของสถานที่ที่เราจะทำการติดตั้ง โดยท่อร้อยสายไฟมีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่

  1. ท่อร้อยสายไฟชนิดโลหะ

1.1) ท่อโลหะขนาดบาง หรือ EMT (Electrical Metallic Tubing)

เป็นท่อที่ทำมาจากแผ่นเหล็กกล้าชนิดรีดเย็น หรือ รีดร้อน หรือ แผ่นเหล็กกล้าที่เคลือบด้วยสังกะสี ผิวภายในจะถูกเคลือบด้วยสารอีนาเมล ส่งผลให้ทั้งผิวภายในและภายนอกดูเรียบและมันวาว ส่วนของปลายท่อทั้ง 2 ด้านจะมีลักษณะเรียบ จึงทำให้ไม่สามารถบิดทำเกลียวได้ 

ซึ่งตัวท่อจะมีมาตรฐานกำหนดเอาไว้ โดยตัวอักษรสีเขียวที่มีการระบุชนิดและขนาดของท่อ โดยขนาดของท่อจะมีตั้งแต่ 1/2″ – 2” ยาวประมาณ 10 ฟุต หรือ 3 เมตร ท่อประเภทนี้นิยมนำมาใช้ในการเดินสายไฟลอยในตัวอาคาร อากาศ หรือฝังลงในผนังคอนกรีต แต่ที่ไม่นิยมก็คือ การฝังลงในดิน ฝังในพื้นคอนกรีตที่เป็นสถานที่อันตราย หรือ บริเวณพื้นที่อาจเกิดความเสียหายทางกายภาพ

1.2) ท่อโลหะขนาดกลาง หรือ IMC (Intermediate Conduit)

เป็นท่อที่ทำมาจากแผ่นเหล็กกล้าชนิดรีดร้อน หรือ รีดร้อน หรือ แผ่นเหล็กกล้าที่เคลือบด้วยสังกะสี ส่วนผิวภายในจะถูกเคลือบด้วยสารอีนาเมล ทำให้ผิวภายในและภายนอกของท่อนั้นเรียบและดูมันวาว เช่นเดียวกันกับท่อชนิด EMT แต่จะต่างกันตรงที่ท่อชนิด IMC จะหนากว่าท่อชนิด EMT และบริเวณปลายท่อทั้ง 2 ข้าง สามารถบิดทำเกลียวได้ โดยมาตรฐานของตัวท่อถูกกำหนดเอาไว้ด้วยตัวอักษรสีส้มหรือสีแดง ที่มีการระบุชนิดและขนาดของท่อ โดยขนาดของท่อก็จะมีตั้งแต่ 1/2″ – 4″ ยาวประมาณ 10 ฟุต หรือ 3 เมตร ท่อชนิดนี้นิยมนำมาใช้กับการเดินสายไฟลอยภายนอกอาคาร ฝังในผนังและพื้นคอนกรีต

1.3) ท่อหนาพิเศษ หรือ RSC (Rigid Steel Conduit)

เป็นท่อที่ทำมาจากแผ่นเหล็กกล้าชนิดรีดร้อน หรือ รีดเย็น หรือ แผ่นเหล็กกล้าที่เคลือบสังกะสีทั้งภายในและภายนอก ทำให้ผิวท่อดูเรียบทั้งภายในและภายนอก ซึ่งลักษณะโดยทั่วไปก็จะคล้ายกับท่อชนิด EMTและชนิด IMC แต่จะมีความหนาและด้านกว่า โดยบริเวณปลายท่อทั้ง 2 ด้านจะถูกทำเกลียวเอาไว้ จึงทำให้สามารถบิดเกลียวได้ 

ท่อชนิดนี้สามารถดัดได้ ส่วนใหญ่จะนิยมใช้เครื่องดัดท่อแบบไฮดรอลิก หรือ แบบ Hickey แต่สำหรับท่อที่มีขนาดใหญ่ จะนิยมใช้ข้อโค้งสำเร็จรูปในการดัดแทน โดยมาตรฐานของท่อจะถูกกำหนดเอาไว้ด้วยตัวอักษรสีดำ ที่มีการระบุชนิดและขนาดของท่อ ขนาดของท่อชนิดนี้จะมีตั้งแต่ 1/2″ – 6″ ยาว 10 ฟุต หรือ ประมาณ 3 เมตร นิยมนำมาใช้กับการเดินสายไฟนอกอาคาร ฝังผนังและพื้นคอนกรีต

1.4) ท่อโลหะอ่อน (Flexible Metal Conduit)

เป็นท่อที่ทำมาจากแผ่นเหล็กกล้า โดยผิวภายในและภายนอกเคลือบด้วยสังกะสี เป็นท่อที่มีความอ่อน ทำให้สามารถบิดโค้งงอได้ นิยมนำมาใช้เพื่อป้องกันสายไฟจากการถูกขูดหรือขีด และฝุ่นควันต่าง ๆ ที่อยู่ภายในโรงงานหรืออาคารสูงที่มีเครื่องจักร ซึ่งขนาดของท่อจะมีตั้งแต่ 1/2″ – 4″ ท่อประเภทนี้เหมาะที่จะใช้ในสถานที่ที่แห้งและสามารถเข้าถึงได้ง่าย ไม่ควรนำมาใช้ในสถานที่มีความเปียกชื้น หรือ สถานที่อันตรายต่าง ๆ และไม่ควรนำไปฝังลงในดินหรือคอนกรีต 

1.5) ท่อโลหะอ่อนกันน้ำ (Rain tight Flexible Metal Conduit)

เป็นท่อที่มีส่วนประกอบของท่อ PVC ที่ถูกนำมาใช้เป็นเปลือกหุ้มอยู่บริเวณด้านนอกของท่อ เพื่อป้องกันไม่ให้ความชื้นเข้าไปสู่ด้านในท่อ นิยมนำมาใช้ในการฝังลงไปในผนังหรือพื้นคอนกรีต เหมาะในการนำมาใช้งานในพื้นที่ที่มีความชื้นหรือเปียก และพื้นที่ที่ต้องการความอ่อนตัวของท่อ เพื่อเป็นการป้องกันการชำรุดของสายไฟ ซึ่งเกิดขึ้นมาจากไอของเหลว ของแข็ง หรือในบริเวณพื้นที่ที่อันตราย

  1. ท่อร้อยสายไฟชนิดอโลหะ

2.1) ท่อ PVC (Poly Vinyl Chloride)

เป็นท่อที่ทำมาจากพลาสติกชนิด PVC ที่มีคุณสมบัติในการต้านเปลวไฟ แต่ถึงจะมีคุณสมบัติในการต้านเปลวไฟได้ก็จริง แต่ก็ยังมีข้อเสียเช่นกันคือ ขณะที่ถูกไฟไหม้จะมีก๊าซพิษที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ออกมาด้วย อีกทั้งยังไม่ทนต่อแสงอัลตร้าไวโอเล็ต จึงทำให้ท่ออาจจะกรอบได้ หากถูกแสงแดดเลียเป็นเวลานาน ที่นิยมนำมาใช้ในงานไฟฟ้าจะเป็นท่อสีเหลือง ซึ่งก็มีขนาดตั้งแต่ 1/2″ – 4″ และยาวท่อนละประมาณ 4 เมตร ท่อ PVC นิยมนำมาใช้ในการเดินสายไฟลอยในอากาศ และฝังในผนังคอนกรีต แต่ไม่นิยมนำมาใช้ในบริเวณที่อาจเกิดความเสียหายทางกายภาพ

2.2) ท่อ HDPE (High Density PolyEthylene)

เป็นท่อที่ทำมาจากพลาสติก Polyethylene ชนิด High Density ที่มีคุณสมบัติในการต้านเปลวไฟ มีความแข็งแรงสูง สามารถยืดหยุ่นได้ดี มีทั้งแบบผิวเรียบและแบบลูกฟูก ขนาดของท่อ มีตั้งแต่ 1/2″ ขึ้นไป นิยมนำมาใช้ในการเดินสายไฟบนผิวในที่โล่ง บนฝ้าภายในอาคาร สามารถเดินสายใต้ดินได้ ทั้งแรงดันต่ำและแรงดันสูงปานกลาง สามารถทนต่อแรงกดอัดได้ดี ข้อดีของท่อชนิดนี้ก็คือ มีความอ่อนตัวจึงทำให้ไม่จำเป็นต้องดัดท่อ ทำให้สามารถเดินท่อได้สะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

ผู้เขียน :  ศิรดา จิรานันท์สกุล

ช่างไฟดอทคอม
ช่างไฟที่ดีที่สุดในกรุงเทพฯ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น