ปลั๊กไฟทั่วโลกนี้มีแบบไหนบ้าง ?

แต่ละประเทศใช้กระแสไฟฟ้าและปลั๊กไฟแตกต่างกัน  ดังนั้นควรศึกษาไว้เพื่อการใช้งานได้ถูกต้องค่ะ โดยในปัจจุบันแล้วทั่วโลกมีประเภทของปลั๊กไฟ 14 แบบดังนี้ค่ะ

Type A : เต้าเสียบจะมีขาแบน 2 ขา ส่วนเต้ารับ ก็จะเป็นรูแบบตาแบน 2 ตา บางครั้งขา/ตาใด ขา/ตาหนึ่ง จะใหญ่กว่าอีกข้างหนึ่ง ดังนั้นเรา ไม่สามารถ เสียบสลับข้างได้ ประเทศที่ใช้ปลั๊ก ประเภทนี้คือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น

Type B : เต้าเสียบจะมีขาแบน 2 ขา และขากลม 1 ขาสำหรับสายดิน ส่วนเต้ารับก็จะ เป็นรูแบบตาแบน 2 ตา และรูกลม สำหรับสายดิน 1 ตา ประเทศที่ใช้ปลั๊ก ประเภทนี้คือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เหมือนกับ Type A

Type C : เต้าเสียบจะมี 2 ขากลม และเต้ารับก็มี 2 ตากลมเช่นเดียวกัน ปลั๊กประเภทนี้ ใช้แพร่หลาย ในยุโรป จนทำให้มีชื่อเรียกว่า Europlug ตัวอย่างประเทศที่ใช้ปลั๊กประเภทนี้ เช่น ฝรั่งเศส ออสเตรีย ฟินแลนด์ เป็นต้น

Type D : หรือปลั๊กอังกฤษแบบเก่า ปลั๊กประเภทนี้เต้าเสียบ จะมีขากลม 3 ขา และเต้ารับมีที่เสียบแบบกลม 3 ตา โดยที่ทั้ง 3 ขา/ตา จะเรียงตัวกันคล้ายสามเหลี่ยม และมีขนาดเท่ากันทั้ง 3 ขา/ตา ประเทศที่ใช้ปลั๊ก ประเภทนี้ก็เช่น อินเดีย เนปาล

Type E : เต้ารับของปลั๊กประเภทนี้ จะมีลักษณะเป็นหลุมกลม ซึ่งจะมีที่เสียบแบบกลม 2 ตา และมีขากลม สำหรับสายดิน 1 ขายื่นออกมา ส่วนเต้าเสียบ ก็จะมีลักษณะกลมเช่นกัน เพื่อให้สามารถ เสียบลงไปในหลุมของเต้ารับได้ เต้าเสียบ จะมีขากลม 2 ขา และมีรูกลม 1 ตาไว้สำหรับรองรับ ขากลมสายดิน ที่ยื่นออกมาจากเต้ารับ ประเทศที่ใช้ปลั๊กประเภทนี้ก็เช่น ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม เป็นต้น

Type F : เต้ารับของปลั๊กประเภทนี้ จะมีลักษณะเป็นหลุมกลม เช่นเดียวกับ Type E แต่ที่เต้ารับจะมีที่เสียบแบบกลม 2 ขา และมีเขี้ยวสำหรับสายดิน อยู่ตรง ขอบหลุม ด้านบนและล่างรวม2แห่งส่วนเต้าเสียบ ก็จะมีลักษณะกลมเช่นกันเพื่อให้สามารถเสียบลงไปในหลุมของเต้ารับได้ เต้าเสียบจะมีขากลม 2 ขา และมีช่องเป็นทางยาว 2 แห่ง เพื่อรอง รับเขี้ยวสำหรับสายดินที่ยื่นออกมาจากเต้ารับ ปลั๊กประเภทนี้ มีชื่อเรียก อีกอย่างว่า “Schuko plug” ซึ่งใช้แพร่หลายในประเทศเยอรมัน สเปน เนเธอร์แลนด์ เป็นต้น

Type G : เต้าเสียบมี 3 ขา แต่ละขามีลัษณะเหมือน สี่เหลี่ยมผืนผ้า วางเรียงกันคล้ายสามเหลี่ยม ส่วนเต้ารับก็จะมี 3 ตาที่รองรับขาเสียบแบบ สีเหลี่ยมผืนผ้าเช่นกัน อังกฤษและฮ่องกง เป็นตัวอย่าง ประเทศที่ใช้ปลั๊ก ประเภทนี้

Type H : เป็นปลั๊กแบบพิเศษมีใช้เฉพาะที่อิสราเอล เขตเวสต์แบงก์ ฉนวนกาซา เท่านั้น โดยเต้าเสียบ มีลักษณะกลม มี 3 ขา ซึ่ง 2 ขาคู่จะเอียงตัว เข้าหากัน คล้ายตัววี ส่วนอีกขา อยู่ตรงปลายตัววีนั้น เป็นสายดิน ลักษณะเต้ารับ ก็กลม เช่นกัน แต่ไม่ได้เป็นหลุมกลมลึกเหมือน Type E & F

Type I : เป็นปลั๊กที่มี 3 ขาแบน โดยที่ 2 ขาจะเอียงเข้าหากัน เหมือนตัววีคว่ำ และมีขาสำหรับสายดินตั้งตรงอยู่ ระหว่างด้านในของตัววี ปลั๊กประเภทนี้ใช้กันมากที่ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

Type J : หรือมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า ปลั๊กสวิส 3 ขา เพราะ ใช้กันมากที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยที่ทั้ง 3 ขาเป็นขาแบบกลม และตาที่เต้ารับก็จะรองรับ เฉพาะ ขากลมเท่านั้น ปลั๊กนี้คล้ายกับปลั๊ก Type C ต่างที่ Type J มีขาสำหรับสายดิน แต่ Type C ไม่มี

Type K : เป็นปลั๊กที่มีขากลม 3 ขา และตาที่เต้ารับก็จะรองรับ เฉพาะขากลม 3 ขาเท่านั้น ปลั๊ก Type K นี้คล้ายกับปลั๊ก Type F แต่ต่างกันตรงสายดิน ซึ่งสายดินของ Type K เป็นขากึ่งกลมอยู่ที่เต้าเสียบ ส่วน Type F เป็นเขี้ยวอยู่ที่เต้ารับ ปลั๊ก Type K นี้ใช้แพร่หลายในประเทศเดนมาร์ก กรีนแลนด์ มัลดีฟ เป็นต้น

Type L : เต้าเสียบของปลั๊กประเภทนี้มีขากลม 3 ขา ที่เรียงกัน เป็นแนวเดียว โดยที่สายดินจะอยู่ตรงกลาง ส่วนเต้ารับก็จะมี 3 ตาแบบกลมเช่นกัน ปลั๊กนี้ใช้กันมากในอิตาลี

Type M : เต้าเสียบจะมีขากลม 3 ขา และเต้ารับมีที่เสียบ แบบกลม 3 ตา โดยที่ทั้ง 3 ขา/ตา จะเรียงตัวกัน คล้ายสามเหลี่ยม คล้ายกับปลั๊ก Type D แต่ขา/ตาทั้ง 3 ขา/ตาของ Type M จะมีขนาดใหญ่กว่า ประเทศที่ใช้ปลั๊กประเภทนี้คือ เซาท์แอฟริกา สะวาซิแลนด์ เป็นต้น

Type N : มีลักษณะคล้าย Type J คือ เต้าเสียบเป็นแบบ 3 ขากลม และเต้ารับรองรับ 3 ตากลม แต่ไม่สามารถใช้ร่วมกันได้ เพราะตำแหน่ง ของสายดินอยู่คนละตำแหน่งกัน ประเทศที่ใช้ปลั๊กประเภทนี้คือ บราซิล

Type O : ส่วนประเทศไทยของเรา ใช้ปลั๊กหลากหลาย มีทั้ง Type A, B, C และ F โดยใช้กระแสไฟ 220 โวลต์ ที่ความถี่ 50Hz แต่บางครั้งเราอาจจะ เจอปลั๊ก ที่มีเต้าเสียบ 3 ขากลมและเต้ารับ 3 ตากลม ลักษณะคล้ายกับ Type D ของอินเดีย แต่ไม่สามารถใช้แทนกันได้ เพราะความห่างของขา/ตาแต่ละขา/ตา ไม่เท่ากับ Type D ของอินเดีย ซึ่งเป็นปลั๊กที่มีลักษณะ เฉพาะของประเทศไทยเราเท่านั้น

ผู้เขียน : ฐิติรัตน์ ทองคำชุม

ช่างไฟดอทคอม
ช่างไฟที่ดีที่สุดในกรุงเทพฯ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น